พระราชประวัติ

สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หรือ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๕ เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าจอมมารดาเปี่ยม) มีพระเชษฐา พระเชษฐภคินี พระกนิษฐภคินี และพระอนุชา ร่วมพระชนนีรวม ๕ พระองค์

ครั้งทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาวิชาหนังสือและวิชาการตามแบบอย่างราชนารีในราชสำนัก ทรงเฉลียวฉลาด และมีความจำเป็นเลิศ

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามีพระชนมายุเพียง ๖ พรรษา ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระฐานันดรศักดิ์ของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า จึงเปลี่ยนเป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา เมื่อเจริญพระชันษา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นพระภรรยาเจ้า ทรงสถาปนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้ามีพระราชโอรสธิดารวม ๘ พระองค์ ในฐานะพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าพระองค์แรก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระราชเทวี ต่อมาทรงสถาปนาเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงพระฐานันดรศักดิ์เป็น สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ ทรงสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

ตลอดพระชนม์ชีพอันยืนนานของสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประสบความทุกข์โทมนัส อันเนื่องจากความพลัดพรากจากบุคคลอันเป็นที่รักหลายครั้งหลายครา พระราชโอรสธิดาสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์ นับตั้งแต่การสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าอิศริยาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๒ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๔ พระราชธิดาที่เพิ่งประสูติได้ ๓ วัน ยังไม่ทันได้รับพระราชทานพระนาม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ และเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๗ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จสวรรคตอย่างกะทันหัน เมื่อพระชนมายุ ๑๗ พรรษา สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเศร้าโศกพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง พระสุขภาพก็ทรุดลง ครั้นเมื่อพระสุขภาพเริ่มดีขึ้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าสมมติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ก็สิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ และ พ.ศ. ๒๔๔๒ ตามลำดับ

เมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชโอรสธิดา ๓ พระองค์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงชื่นชมโสมนัสในพระราชนัดดาเป็นอย่างยิ่งเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ พระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม

พระราชกรณียกิจสำคัญสุดท้าย คือ ทรงเป็นประธานในพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ณ วังสระปทุม รวมพระชนมายุ ๙๓ พรรษา พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพจัดขึ้น ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง